COLUMNIST

พลังงานโลก พลังงานไทย กับ "ณรงค์ชัย อัครเศรณี"
POSTED ON -


 

กระทรวงพลังงาน หนังหน้าไฟของทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลยุค คสช. จึงไม่แปลกใจว่าโผ รมว.พลังงาน คลอดเกือบหลังสุด และแล้วชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูชาวพลังงานก็ปรากฏออกมารับเป็นเจ้ากระทรวง "ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี" นักการเงินและนักบริหาร เป็นทั้งนักพูด นักวิชาการ และวันนี้มาทำหน้าที่เป็นหนังหน้าไฟ จะมอดไหม้หรือกลายเป็นกลองเสียงดังกังวาน คงต้องพิสูจน์ฝีมือกัน ขอให้กำลังใจรัฐมนตรีทุกท่านในรัฐบาลที่อยู่เหนือผลประโยชน์ทั้งด้านธุรกิจและการเมือง

 

มุมมองด้านพลังงานของ รมว.พลังงาน มุ่งไปที่ปรับดุลยภาพของพลังงานไทยทั้ง 4 ด้าน คือ

 

1. การใช้พลังงานของคนไทยยังขาดประสิทธิภาพ ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ขนส่ง ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย

 

2. การผลิตและจัดหาพลังงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานในประเทศและการจัดหาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

3. ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี การสำรวจค้นหาต้องใช้เทคโนโลยีสูง ใช้งบประมาณมาก อีกทั้งยังถูกต่อต้านจาก NGO และประชาชนบางกลุ่มที่ยังขาดความเข้าใจพลังงานอย่างแท้จริง

 

4. การไม่ยอมรับจากบุคคลบางกลุ่มที่มีต่อกระทรวงพลังงาน ปตท. และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่รับผิดชอบด้านพลังงาน จึงมีการขัดขวางการทำงาน จนอาจกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่น

 

และนั่นคือมุมมองของอดีตประชาชนเต็มขั้น ผู้ใช้พลังงานเหมือนกับท่าน แต่วันนี้ท่านคือ รมว.พลังงาน ถึงแม้ท่านจะมีทีมงานพลังงานที่เข้มแข็ง มีอำนาจพิเศษจาก คสช. มีใจเต็มร้อย แต่เรื่องของพลังงานมักมีพลังเหนือพลังจริงๆ

 

ก่อนจะไปเรียนรู้พลังงานของโลกว่าจะเหลือให้ลูกหลานเราใช้อีกกี่ปี ขอแสดงความคิดความเห็นเรื่องการปฏิรูปพลังงานที่ปรากฏอยู่สักเล็กน้อย การขึ้นเวทีของผู้ที่เรียกตัวเองว่า "นักปฏิรูปพลังงาน" มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับภาครัฐ ซึ่งท่านคงรู้จักและเข้าใจเหตุผลของกลุ่มนี้ดีอยู่แล้ว คือทำหน้าที่ตอบคำถามแทนภาครัฐ ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐจะขอแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อยตามที่ได้เคยสัมผัส ดังนี้

 

1. กลุ่มผู้สนใจพลังงานจริงๆ และอยากรู้ ตามมาฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งในอดีตนักการเมืองเข้ามามีบทบาทจนประชาชนไม่มั่นใจองค์กรของรัฐ กระทั่งกลายเป็นวิกฤตศรัทธาอย่างในปัจจุบัน

 

2. ประชาชนตาดำๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของภาครัฐ รวมถึงโครงการที่ได้รับสัมปทานและยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยา ได้ถูกเชิญชวนเข้าร่วมกลุ่ม โดยผู้ที่มาร่วมหวังว่าปัญหาของตนเองอาจจะได้รับการแก้ไขเยียวยา

 

3. กลุ่ม NGO และนักวิชาการที่มองเห็นจุดบกพร่องของการพัฒนาด้านพลังงาน รวมทั้งข้อจำกัดของภาครัฐ เช่น ต้องรองบประมาณ หรือบางครั้งก็ถูกมองข้ามไปก็มี เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์ระยะสั้นต่อภาคการเมือง

 

4. กลุ่มหรือบุคคลที่อาศัยเรื่องของพลังงานในการสร้างชื่อเสียง เพื่อเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป

 

การปฏิรูปพลังงาน ควรปฏิรูปอะไรบ้าง? แท้จริงเป็นพันธกิจที่ต้องแลกมาด้วยความอยู่รอดของลูกหลาน จะขอสรุปสถานการณ์พลังงานโลกมาให้อ่านกันพอเข้าใจ แล้วท่านจะปฏิรูปพลังงานอย่างไรคงเป็นสิทธิของท่าน...

 

 

สำหรับสถานการณ์พลังงานโลกนั้น โลกจะมีพลังงานให้เราใช้อย่างในปัจจุบันอีกกี่ปี มีข้อมูลต่างๆ มากมาย เมื่ออ่านดูแล้วท่านเชื่อหรือไม่? นั่นอาจเป็นตัวเลขหลอกเราเพื่อเล่นเกมราคาพลังงานหรือเปล่า? แต่ก็คงต้องยอมเชื่อเหมือนที่เคยเชื่อว่าโลกกลม หรือเชื่อว่ามนุษย์เหยียบดวงจันทร์แล้ว

 

ถ้าจริงตามที่บริษัทน้ำมันระดับโลกอย่าง BP รีวิวพลังงานโลกเมื่อปี ค.ศ.2013 ก็หมายความว่า เราจะมีน้ำมันไว้ใช้อย่างฟุ่มเฟือยแบบไทยๆ อีกถึง 50 ปี มีถ่านหินที่คนไทยบางกลุ่มไม่ค่อยชอบไว้ใช้อีกนานถึง 109 ปี และของดีราคาถูกอย่างก๊าซธรรมชาติมีไว้ใช้อีก 55 ปี ซึ่งหากท่านไม่มีลูกหลานหรือไม่ห่วงลูกหลานก็คงต้องใช้คำว่า "พลังงานมีเหลือใช้ในช่วงชีวิตเรา"  แน่นอน

 

พลังงานแต่ละชนิดมีอยู่ที่ไหนบ้างในโลก (แต่คงไม่ใช่ใต้พื้นกรุงเทพมหานครที่เราอาศัยอยู่นี้แน่ๆ) เริ่มจากน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งล้วนเป็นฟอสซิลหรือจะเรียกว่า "ซากดึกดำบรรพ์" ก็ฟังดูแปลกดี

 

1. น้ำมัน (Oil) อยู่ตรงไหนของโลก? ถ้าไม่ทราบจริงๆ เดาไว้ก่อนได้เลยว่าตรงไหนมีสงครามบ่อยๆ ตรงนั้นแหละแหล่งน้ำมัน สงครามแย่งชิงพลังงานน้ำมันอยู่ที่คู่สงครามจะอาศัยเหตุการณ์ใดมาสร้างความชอบธรรมในการก่อสงครามเท่านั้นเอง อย่างในตะวันออกกลางมีสงครามมาอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะมีน้ำมันมากที่สุดในโลกนั่นเอง

 

คราวนี้เรามารู้จัก "ยูเรเซีย" (EURASIA) กันดีกว่า ชื่อก็บอกแล้วว่ายุโรปบวกกับเอเชีย ยูเรเซียคือประเทศที่อยู่ระหว่างรอยต่อทวีปยุโรปกับเอเชีย ช่วงรัสเซียตลอดรอยต่อทั้งสองทวีปจะนับพื้นที่จากเปลือกโลกที่รองรับแผ่นดินหรือจากเขตการปกครองอย่างไรคงต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม แต่เข้าใจเบื้องต้นไว้ก่อนว่า "ยูเรเซีย" ก็คืออีกแหล่งพลังงานของโลกที่มีทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ

 

มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและทำลายโลก ถ้าโลกไม่แตกไปก่อน ท่านไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีน้ำมันใช้ ตามข้อมูลย้อนหลังของ BP : British Petroleum ระบุว่า 20 กว่าปีมานี้มนุษย์ได้ค้นพบน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบ 30% เก็บตุนไว้เป็นปริมาณสำรองของโลก และส่วนใหญ่ก็อยู่ในตะวันออกกลาง และสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ (Gen Y) อาจไม่ทราบก็คือ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีข่าวว่าพลังงานมีจำกัด มีวันหมด และไม่มีการเล่นเกมราคาพลังงาน เจ้าของพลังงานไม่ได้ร่ำรวยและมีอำนาจมากเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้

 

2. ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) อีกหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) เช่นเคยตะวันออกกลางและประเทศที่เชื่อมต่อกับยุโรปไปจนถึงทวีปยุโรป 3 กลุ่มนี้มีก๊าซธรรมชาติมากที่สุด ก๊าซธรรมชาติก็เช่นกันมีอัตราการค้นพบเพิ่มขึ้นปีละ 2-3% ทุกปี แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณของมนุษย์

 

3. ถ่านหิน (Coal) เป็นผลผลิตจากซากดึกดำบรรพ์ที่ทับถมกันมานานปี แบ่งออกเป็น 5 ชั้นคุณภาพ คือ เกรด A ดีที่สุด เรียกว่า แอนทราไซด์ (Anthracite) เกรดที่สองรองลงมา คือ บิทูมินัส (Bituminous) เกรดที่สาม ซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous) เกรดที่สี่ ลิกไนต์ (Lignite) และเกรดต่ำสุดก็ คือ พีต (Peat)

 

ถ่านหินเป็นพลังงานแบบเดียวที่ตะวันออกลางมีไม่มาก แต่เอเชียและยุโรปกลับมีมากกว่า ส่วนแชมป์การใช้ถ่านหินก็เป็นของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนเพียงประเทศเดียวใช้ถ่านหินกว่า 50% ของโลก แล้ว NGO ไทยจะรอให้ถ่านหินแพงกว่านี้แล้วค่อยนำมาใช้หรืออย่างไร?

 

สำหรับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เป็นเพียงพลังงานเสริมหรือสำรองของโลก แต่เป็นพลังงานสะอาด จะผลิตได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับศักยภาพเชิงภูมิศาสตร์และความสามารถด้านงบประมาณ สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในด้านของ Bioenergy และเป้าหมายพลังงานทดแทนก็คืออีกโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายคนชื่อ "ณรงค์ชัย อัครเศรณี" ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้วิธีการเดิมๆ ด้วยการขยายแผน AEDP (Alternative Energy Development Plan) ออกไปเรื่อยๆ โดยไม่สรุปว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร? ถึงเป้าหมายหรือไม่? ปัญหามาจากอะไร? ผลการวิจัยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรรับฟังความคิดเห็นแบบ 360 องศา รวมทั้งจากผู้ที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาลจึงจะเรียกว่า "ปฏิรูปพลังงาน"